วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประวัติพระเจ้าตากสิน

พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำ ปีขาล ฉศก จุลศักราช 1096 ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา มีพระนามเดิมว่า สิน พระราชบิดาเป็นชาวจีนชื่อนายไหฮอง หรือ หยง แซ่แต้ เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพัฒน์ พระราชชนนีชื่อนางนกเอี้ยง (ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น กรมพระเทพามาตย์) ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับจวนเจ้าพระยาจักรีที่สมุหนายก เมื่อยังทรงพระเยาว์เจ้าพระยาจักรีได้ขอสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม และได้ตั้งชื่อพระองค์ท่านว่า สิน พอนายสินอายุได้ 9 ขวบ เจ้าพระยาจักรีก็นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส ครั้นอายุได้ 13 ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำนายสินเข้าถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตามประเพณีของการรับราชการในสมัยนั้น ในระหว่างรับราชการเป็นมหาดเล็กนายสินได้พยายามศึกษาหาความรู้ทางด้านภาษาต่างประเทศหลายภาษา มีภาษาจีน ภาษาญวน และภาษาแขก จนสามารถพูดได้สามภาษาอย่างชำนิชำนาญ ครั้นนายสินอายุได้ 21 ปี เจ้าพระยาจักรีได้ประกอบการอุปสมบทนายสินเป็นพระภิกษุสงฆ์อยู่ในสำนักอาจารย์ทองดี ณ วัดโกษาวาส นายสินอุปสมบทอยู่ 3 พรรษา แล้วก็ลาสิกขาบทกลับมาเข้ารับราชการตามเดิม เนื่องจากนายสินเป็นผู้ฉลาดรอบรู้ขนบธรรมเนียมราชกิจต่าง ๆ โดยมาก จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายสินเป็นมหาดเล็กรายงาน ด้วยราชการทั้งหลายในกรมมหาดไทย และกรมวังศาลหลวง พ.ศ. 2301 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรเสด็จเสวยราชสมบัติได้ 3 เดือนเศษ ก็ถวายสิริราชสมบัติแก่สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นายสินมหาดเล็กรายงานเป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปชำระความหัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งนายสินได้ปฏิบัติราชการด้วยความวิริยะอุตสาหะและมีความดีความชอบมาก จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก ช่วยราชการอยู่กับพระยาตาก ครั้นเมื่อพระยาตากถึงแก่กรรมลงก็ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนหลวงยกกระบัตร (สิน) เป็นพระยาตาก ปกครองเมืองตากแทน พ.ศ. 2308 พระยาตาก (สิน) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เข้ามาช่วยราชการสงครามเพื่อป้องกันพม่าในกรุงศรีอยุธยา พระยาตาก (สิน) มีฝีมือการรบป้องกันพระนครอย่างเข้มแข็งมีความดีความชอบมาก จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น พระยาวชิรปราการ (สิน) สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองเดิมที่ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในเดือนเมษายน พระยาตากก็สามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนได้ แล้วก็คิดจะปฏิสังขรณ์กรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีใหม่ แต่เมื่อได้ตรวจความเสียหายแล้วเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาได้รับความเสียหายเป็นอันมากยากที่จะบูรณะให้เหมือนดังเดิมได้ และประกอบกับรี้พลของเจ้าตากมีไม่พอที่จะรักษากรุงศรีอยุธยาที่เป็นเมืองใหญ่ได้ จึงเลือกเมืองธนบุรีเป็นราชธานี และได้อพยพผู้คนลงมาตั้งมั่นที่เมืองธนบุรี เจ้าตากทรงทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ครองกรุงธนบุรี เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม 4 ค่ำ จุลศักราช 1130 ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ 28 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2311 ขณะมีพระชนมายุได้ 34 พรรษา ทรงนามว่า สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แต่ประชาชนทั่วไปยังนิยมขนานพระนามพระองค์ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดากับสมเด็จพระอัครมเหษี กรมหลวงบาทบริจา และกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ รวมทั้งพระสนมต่าง ๆ รวมทั้งสิน 29 พระองค์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จสวรรคต เมื่อวันเสาร์ เดือน 5 แรม 9 ค่ำ จ.ศ. 1144 ปีขาล ตรงกับวันที่ 6 เมษายน 2325 พระชนมายุ 48 พรรษา รวมสิริราชสมบัติ 15 ปี กระบวนการกอบกู้เอกราช หลังจากที่พระยาตากพาไพร่พลตีฝ่าวงล้อมพม่า มุ่งไปยังหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออก ประมาณ 3 เดือน พม่าก็เข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2310 พม่าจุดไฟเผาเมืองจนวอดวาย พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่ามีพระบรมราชโองการให้ทำลายทุกอย่างให้ย่อยยับ แล้วให้จับพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ และรวบรวมสมบัติทั้งหมดของอยุธยาส่งกลับไปพม่า ข่าวกรุงแตกได้แพร่กระจาย ขณะที่พระยาตากอยู่ที่เมืองระยอง พระยาตากจึงได้ประกาศตนเป็นผุ้นำในการที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และกอบกู้กรุงศรีอยุธยาให้กลับรุ่งเรืองดังเดิม บรรดาแม่ทัพนายกองที่สวามิภักดิ์ต่างพร้อมใจกันยกพระยา ตากขึ้นเป็นผู้นำขบวนการกอบกู้แผ่นดิน และเรียกพระยาตากว่า เจ้าตาก นับตั้งแต่นั้นมา เจ้าตากได้นำ ไพร่พลทั้งไทยและจีนเดินทางต่อไปยังฝั่งทะเลด้านตะวันออก รอเวลาที่จะกอบกู้แผ่นดินจากพม่า ทุกขั้น ตอนของแผนกอบกู้เอกราช ล้วนแสดงถึงพระอัจฉริยภาพในด้านยุทธวิธีทางทหาร ทั้งทางบกและทางน้ำ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระยาตากพาไพร่พลตีฝ่าวงล้อมของทัพพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยามุ่งตรงไปยังบ้านโพธิ์สังหาญ หรือ โพธิ์สาวหาญ รุ่งเช้าได้ต่อสู้กับกองทหารพม่า ทหารไทยฆ่าฟันทหารพม่าล้มตายแตกหนีไปพระยาตาก จึงนำทหารเดินทางต่อ และไปตั้งค่ายพักอยู่บ้านพรานนก ให้พวกทหารไปเที่ยวหาอาหาร มาเลี้ยงกัน ขณะนั้นมีทหารพม่ากองหนึ่ง ซึ่งมีทหารม้าประมาณ 30 คน ทหารเดินเท้าประมาณ 200 คน เดินทาง มาจากแขวงเมืองปราจีนบุรี สวนทางมาพบทหารพระยาตากที่เที่ยวหาเสบียงอาหาร ทหารพม่าก็ไล่จับและ ติดตามมายังบ้านพรานนก พระยาตากจึงให้ทหารแยกออกซุ่มสองทาง ตนเองขึ้นขี่ม้าพร้อมกับทหารอีก 4 คน ควบตรงไปไล่ฟันทหารม้าพม่า ทหารพม่าไม่ทันรู้ตัวตกใจถอยกลับ ไปปะทะกับทหารเดินเท้าของตนเอง เกิดการอลหม่าน ทหารไทยที่ซุ่มอยู่สองข้างจึงแยกเป็นปีกกาตีโอบทหารพม่าไว้สองข้าง แล้วไล่ฟันทหารพม่า ล้มตายและแตกหนีไป พวกราษฎรที่หลบซ่อนพม่าอยู่ ครั้นเห็นพระยาตากรบชนะพม่า ก็ดีใจพากัน เข้ามาสมัครเป็นพรรคพวก พระยาตากจึงให้ราษฎรเหล่านั้น ไปเกลี้ยกล่อมหัวหน้านายซ่องมาสวามิภักดิ์ นำช้าง ม้าพาหนะและเสบียงอาหารมามอบให้ นายซ่องใหญ่ที่ไม่ยอมอ่อนน้อม ก็ถูกปราบปรามจนราบคาบ ริบพาหนะ ผู้คน ช้างม้า และศาสตราวุธ ได้เป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นพระยาตากจึงยกกองทหารไปทาง นาเริง เมืองนครนายก ผ่านด่านกบแจะ ข้ามลำน้ำปราจีนบุรี ไปตั้งพักอยู่ชายดงศรีมหาโพธิ์ ข้างฝั่งตะวันออก พม่าที่ตั้งทัพอยู่ปากน้ำเจ้าโล้ใต้เมืองปราจีนบุรียกพลตามมา พระยาตากก็นำทหารไล่ติดตามฆ่าฟันทหารพม่า ล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ที่เหลือก็หนีแตกกระจัดกระจายไป นับแต่นั้นมา พม่าก็มิได้ติดตามกองทัพพระยา ตากอีกต่อไป พระยาตากได้ยกกองทัพผ่านเมืองฉะเชิงเทรา ชลบุรี แล้วจึงเดินทางต่อไปยังบ้านนาเกลือ แขวงเมืองบางละมุง เมื่อถึงเมืองระยอง เจ้าเมืองระยองซึ่งได้ยินกิติศัพท์ของพระยาตากก็ยอมอ่อนน้อมเชิญให้ เข้าเมือง พระยาตากใช้เวลาไม่ถึงเดือนนับจากตีหักออกจากกรุงศรีอยุธยาก็ยึดเมืองระยองเป็นที่มั่นได้ ความ สามารถของพระยาตากในการรวบรวม คนไทยได้เป็นจำนวนมากเช่นนี้ แสดงถึงศักยภาพของพระยาตากที่มี เหนือกลุ่มอื่น ๆ ในการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา พระราชวิเทคโศบายในการยึดจันทบุรี พระยาตากเดินทัพจากระยองผ่านแกลงเข้าบางกระจะ มุ่งยึดจันทบุรีซึ่งเป็นเมืองใหญ่ เพื่อใช้เป็นฐาน กำลังฟื้นฟูขวัญของไพร่พล เจ้าเมืองจันทบุรีไม่ยอมสวามิภักดิ์ พระยาตากจึงต้องใช้จิตวิทยาในด้านการรบ มาใช้กับแม่ทัพนายกอง เพื่อต้องการรบให้ชนะ โดยสั่งให้ทุบหม้อข้าวหม้อแกงหมายไปกินอาหารมื้อเช้า ในเมือง ถ้าตีเมืองไม่ได้ก็ต้องอดตาย ครั้นถึงเวลาค่ำ พระยาตากจึงได้สั่งให้ทหารไทยจีนลอบเข้าไปอยู่ ตามสถานที่ที่ได้วางแผนไว้แล้ว ให้คอยฟังสัญญาณเข้าตีเมืองพร้อมกัน มิให้ส่งเสียงจนกว่าจะเข้าเมือง ได้จึงให้โห่ขึ้นให้พวกอื่นรู้ พอได้ฤกษ์เวลา 3 นาฬิกา เจ้าตากก็ขึ้นคอช้างพังคีรีบัญชร ให้ยิงปืนสัญญาณ บอกพวกทหารเข้าตีเมืองพร้อมกัน ส่วนพระยาตากก็ไสช้างเข้าพังประตูเมือง ชาวเมืองที่ประจำการอยู่ก็ยิง ปืนใหญ่เข้าใส่ นายท้ายช้างเกรงว่าพระยาตากจะถูกยิงจึงเกี่ยวช้างให้ถอยออกมา พระยาตากชักดาบออกมา จะฟัน นายท้ายช้างจึงได้ขอชีวิตไว้ แล้วไสช้างเข้าชนทำให้บานประตูเมืองพังลง ทหารพระยาตากจึงกรูกัน เข้าเมืองได้ พวกชาวเมืองต่างพากันละทิ้งหน้าที่หนีไป ส่วนพระยาจันทบุรีก็พาครอบครัวลงเรือหนีไปยัง เมืองบันทายมาศ พระยาตากตีเมืองจันทบุรีได้ ณ วันอาทิตย์ เดือน 7 แรม 3 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เพลา 3 ยามเศษ ตรงกับวันที่ 15 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2310 หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน เมื่อยึดเมืองจันทบุรีได้แล้ว พระยาตากได้เคลื่อนทัพไปยังเมืองตราด พวกกรมการและราษฎรเกิดความ เกรงกลัวต่างพากันมาอ่อนน้อมโดยดี ที่ปากน้ำเมืองตราดมีเรือสำเภาจีนมาทอดทุ่นอยู่หลายลำ พระยาตาก ได้เรียกนายเรือมาพบ แต่พวกจีนนายเรือขัดขืนต่อสู้ พระยาตากจึงลงเรือรบ คุมกองเรือไปล้อมสำเภาจีน เหล่านั้น ได้ทำการต่อสู้กันอยู่ประมาณครึ่งวัน พระยาตากก็ยึดสำเภาจีนไว้ได้หมด ได้ทรัพย์สินสิ่งของมา เป็นจำนวนมาก เป็นที่น่าสังเกตว่าเรือรบไทยสมัยนั้น มีขนาดพอ ๆ กับเรือยาวที่ใช้แข่งตามแม่น้ำ เมื่อสามารถเข้าตียึดเรือสำเภาขนาดใหญ่ที่ใช้เดินทะเลและมีปืนใหญ่ประจำเรือด้วยได้นั้น แสดงว่าแม่ทัพ เรือและทหารเรือ จะต้องมีความสามารถมาก ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งแต่ พุทธศักราช 2310 ไปจนถึง พุทธศักราช 2325 ได้มีการทำศึกสงครามเกือบตลอดเพื่อรวบรวม ป้องกัน และขยายพระราชอาณาเขต สำหรับเหตุการณ์ที่สำคัญๆ อาจจะสรุปได้ดังนี้ พุทธศักราช 2310 การเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 การประกาศอิสรภาพหลังจากที่รบชนะพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น การสถาปนากรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรเป็นเมืองหลวง พม่ายกกองทัพมาตีไทยที่บางกุ้ง พุทธศักราช 2311 การเถลิงถวัลยราชสมบัติของสมเด็จพระเจ้าตากสิน การยกกองทัพขึ้นไปตีกลุ่มเมืองพิษณุโลก กลุ่มพระฝางยกกองทัพลงมาตีกลุ่มเมืองพิษณุโลก การยกกองทัพขึ้นไปตีกลุ่มเมืองพิมาย พุทธศักราช 2312 กรุงศรีสัตนาคนหุตแต่งเจ้าหน่อเมืองนำเครื่องราชบรรณาการมาขอเป็นเมืองขึ้น การยกกองทัพขึ้นไปตีเขมร การยกกองทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช พุทธศักราช 2313 การยกกองทัพขึ้นไปตีกลุ่มเมืองสวางคบุรี พม่ายกกองทัพลงมาตีเมืองสวรรคโลก การยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 1 พุทธศักราช 2314 การสร้างกำแพงเมืองกรุงธนบุรี การยกกองทัพไปตีเขมร พุทธศักราช 2315 พม่ายกกองทัพมาตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 1 พุทธศักราช 2316 การสักเลก (ไพร่หลวง ไพร่สม และเลกหัวเมือง) พม่ายกกองทัพมาตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 2 พุทธศักราช 2317 การยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 พม่ายกกองทัพมาตีบางแก้ว (แขวงเมืองราชบุรี) พุทธศักราช 2318 พม่ายกกองทัพมาตีเมืองพิษณุโลก พุทธศักราช 2319 กบฎเมืองนางรอง และการยกกองทัพไปปราบหัวเมืองลุ่มแม่น้ำโขง พระเจ้าตากทรงเริ่มการเจริญวิปัสสนากัมมัฎฐาน พุทธศักราช 2320 การสถาปนาเจ้าพระยาจักรีขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พุทธศักราช 2321 กรุงศรีสัตนาคนหุตแต่งทัพมารบกับพระวอที่หนองบัวลำภูและที่ดอนมดแดง พุทธศักราช 2322 การยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเวียงจันทน์ การอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร พระแก้วมรกตและพระบางมาสู่กรุงธนบุรี พุทธศักราช 2323 การจลาจลวุ่นวายในเขมร กบฎวุ่นวายในกรุงธนบุรี พุทธศักราช 2324 การยกกองทัพขึ้นไปตีเขมร ความวุ่นวายภายในกรุงธนบุรี กบฎพระยาสรรค์ สงครามกลางเมืองระหว่างพระยาสรรค์และพระยาสุริยอภัย พุทธศักราช 2325 การพิจารณาปัญหาเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสิน การสิ้นสุดของสมัยกรุงธนบุรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น